วันอังคารที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2555

เรื่องราวของจักรยานและการเดินทางรอบประเทศ กับ a day

       เมื่อเจ้าพาหนะสองล้อที่แสนเรียบง่ายอย่าง”จักรยาน”ได้ถูกพูดถึงและกลายเป็นกระแสที่คนสนใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้บรรดาสื่อต่างก็ให้ความสนใจและนำเรื่องราวของจักรยานมาพูดถึงในแง่มุมต่างๆ ปัจจุบันจักรยานได้พัฒนาเป็นวิถีชีวิตอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ความนิยมของจักรยานที่เติบโตขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะกระแสแฟชั่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นมาจากการที่คนเริ่มมองเห็นประโยชน์ของมันและอยากขี่กันอย่างจริงจังมากขึ้น  มองซ้ายมองขวาก็เริ่มเห็นคนปั่นเจ้าสองล้อชนิดนี้กันทั่วเมืองแถมยังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนทั่วไปที่ใช้จักรยานกันมานานแล้ว เด็กๆวัยรุ่นทั้งหลาย หรือแม้แต่เหล่าศิลปินและดาราชื่อดังอีกมากมายก็ยังมาร่วมแจม
         แน่นอนว่านิตยสารวัยรุ่นชื่อดังอย่าง a day ก็คงไม่พลาดที่จะให้ความสนใจเรื่องจักรยานด้วยเช่นกัน แต่จะทำอย่างไรที่จะนำเสนอในรูปแบบที่ไม่ซ้ำใคร เพราะแน่นอนว่านิตยสารฉบับอื่นๆก็คงนำเสนอเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน นับว่าโจทย์หลักที่ท้า a day ให้ต้องแก้ปัญหา เพื่อที่จะนำเสนอเรื่องราวในมุมที่ต่างออกไป

คลิกดูรูป fixed gear ได้ที่นี่

a day อยากเล่าเรื่องราวของคนขี่จักรยานเพื่อชวนให้คนมาขี่จักรยาน แต่ก่อนที่จะชวนคนอื่นออกไปปั่น a day เริ่มต้นจากการจูงจักรยานของตัวเองออกมาปั่นก่อน เพื่อไปตามหาคนขี่จักรยานและพูดคุยกับคนเหล่านั้นที่อยู่ทั่วประเทศไทยในระยะทั้งหมด 45 วัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อมือใหม่หัดขับอย่างพวกเขาสามารถปั่นได้ ผู้อ่านก็ออกมาปั่นได้เช่นกัน


“มาปั่นจักรยานด้วยกันเถอะ” นั่นคือสิ่งที่ a day อยากจะบอกกับเรา


ผมเองมีโอกาสได้นั่งคุยกับพี่ก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการ a day เกี่ยวกับเรื่องราวการเดินทางของทริป Human Ride และที่มาของการทำ a day ฉบับจักรยาน ก็เลยอยากจะนำมาเล่ากันให้ฟังซักหน่อย


พี่ก้องได้เล่าถึงที่มาของ a day ฉบับนี้ให้ฟังว่า จากการที่จักรยานกลายเป็นกระแสที่มาแรงและในระดับโลกนั้นได้พูดถึงการใช้จักรยานเอาไว้ว่าเมืองในอนาคตควรจะเป็นเมืองที่เหมาะกับจักรยาน ในเมืองใหญ่ทั่วโลกอยากจะให้คนหันมาใช้จักรยานมากขึ้น เพราะแก้ปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อม แล้วยังทำให้เมืองน่าอยู่อีกด้วยและนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น



“พี่ก็สนใจแต่คิดว่ามันก็เป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก พอกลับมามองเมืองไทยเราก็จะมีข้อจำกัดที่ทำให้คนไม่อยากขี่จักรยานเยอะ เลยรู้สึกว่าเรื่องการขี่จักรยานในเมืองนอกมันเป็นเรื่อง่ายเพราะอากาศมันดี แต่พอกลับมาเมืองไทยแล้วเป็นเรื่องที่ยากมาก พี่เลยไม่คิดจะขี่ ติดกับข้อจำกัดนี่ล่ะครับ ว่าจะขี่ยังไง ร้อนก็ร้อน ถนนก็ลำบาก แค่สนใจเท่านั้นเองแต่ไม่ได้เริ่มขี่”



แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีคนหันมาสนใจปั่นจักรยานเยอะขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่การออกกำลังกาย แฟชั่น และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมาของ Fixgear ได้ทำให้วัยรุ่นสนใจและเป็นแฟชั่นมากขึ้นจนกลายเป็นไลฟสไตล์อีกแบบหนึ่ง ด้วยสาเหตุนี้เอง ทำให้บรรณาธิการของเราเปลี่ยนมุมมองไปจากเดิม


“คือตอนแรกสุดมองไปที่ประเทศต่างๆ เห็นว่าจักรยานมันเกิดขึ้นได้เพราะว่ามีระบบในเมืองมันเกิดขึ้นก่อน ของฝรั่งมีระบบกฎหมายทำให้จักรยานมันเกิดขึ้นได้ ซึ่งในเมืองไทยไม่มีก็เลยคิดว่าไม่น่าจะเวิร์ค จนกระทั่งเจอเคสในเมืองไทยซึ่งคนขี่ก่อน คนสนใจขี่แล้วพยายามผลักดันให้เกิดนโยบายเกี่ยวกับจักรยานในเมืองมากขึ้น พอเห็นคนขี่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าเออ น่าสนใจนะว่าทำไมคนถึงขี่จักรยานกัน ทั้งๆที่เราก็มองว่าเมืองไทยมีข้อจำกัดมากมาย ก็เลยอยากรู้ตรงนี้” 


เมื่อ a day จะทำฉบับจักรยาน แต่ถ้าจะให้พูดเรื่องเชิงนโยบาย ว่าทั่วโลกมีนโยบายอะไร แล้วเมืองไทยควรจะเป็นแบบไหน ก็คงเป็นเรื่องใหญ่เกินไป อีกทั้งยังมีคนพูดไปแล้วก็เยอะ a day จึงพยายามมองหาเรื่องราวในแง่มุมอื่นที่แตกต่าง แต่ก็พบว่ายังมีอุปสรรคขนาดใหญ่ที่ต้องเผชิญ



“เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อปีกว่าๆ วันที่เรานั่งคุยกันว่าจะทำเรื่องจักรยานกัน ให้ทุกคนกลับไปคิดว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง แล้วก็กลับมานั่งประชุมกัน ในวันที่เรานั่งประชุม ก็มีคนถือนิตยสาร”สารคดี”เล่มใหม่มาด้วย(หน้าปกเรื่องจักรยาน) พี่ก็คิดว่าคงไม่ซ้ำหรอก ก็เปิดสารคดีดู ปรากฏว่าทุกอย่างที่พูดกันมาอยู่ในสารคดีหมดแล้ว และที่สำคัญคือเขาทำดีกว่าเราเยอะเลย สิ่งที่เค้าหามามันเยอะกว่าที่เราคิดได้เยอะมาก ก็คิดว่าเราคงแพ้พ่ายแน่ๆ ก็หยุดการทำเล่มนั้นแบบเบรกเอี๊ยดเลย ก็เลยไปทำเล่มวิดีโอเกมแทน แต่ก็ยังอยากทำอยู่ ก็คิดว่าเอาล่ะ วันหนึ่งที่เราพร้อมกว่านี้ เมื่อเราคิดออกว่าจะทำอะไรค่อยกลับมาทำใหม่”



เวลาผ่านไป นิตยสารหลายเล่มต่างทยอยนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับจักรยานในรูปแบบต่างๆ จึงมาถึงโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรจะไม่ซ้ำกับคนอื่นๆ และจากสาเหตุดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ a day ต้องกลับมาทบทวนถึงจุดมุ่งหมายหลักอีกครั้ง ว่าอยากสื่อสารอะไรกับผู้อ่านจากการทำเรื่องจักรยาน ทำให้พบว่าสุดท้ายปลายทางของการทำนิตยสารฉบับนี้ก็คือ อยากให้คนขี่จักรยาน



“ปลายทางของเราคือ ทำให้คนอ่านจบปั๊บ ไปหาจักรยานมาขี่ ดังนั้นเราคิดว่าจะต้องทำอย่างไรล่ะ ให้คนรู้สึกว่า เค้าอยากขี่จักรยาน ก่อนจะตอบคำถามนี้ ก็กลับไปที่คำถามว่า ทำไมคนถึงไม่ขี่ล่ะ อ๋อ!คนกลัว คนขี่ไม่เป็น หรือปัญหาต่างๆว่า จะจอดรถที่ไหน จะขี่กับใคร เส้นทางไหน เป็นปัญหาเยอะมาก เราก็เลยคิดว่า โอเคนี่คือปัญหาที่พวกเค้าเจอ ดังนั้นทางง่ายที่สุดก็คือบอกเค้าว่าปัญหาเหล่านั้นแก้ยังไง แต่ก็คิดอีกทีว่า มันคงจะดีกว่าถ้าเกิดว่าพวกเราทำตัวเป็นหนูทดลองยา ในการไปลองหัดขี่กันดู ถ้าพวกเราขี่กันรอด พวกเค้าก็เอาเป็นตัวอย่างได้”



ซึ่งในขณะเดียวกัน มีสมาชิกคนหนึ่งของ a day ซึ่งขี่จักรยานมาทำงานเป็นประจำ คือ โต สมพฤกษ์ ผูกพานิช(กราฟิกดีไซเนอร์) จึงเป็นไอเดียให้พี่ก้องอยากลองเดินทางด้วยจักรยานเพื่อเก็บข้อมูลมาบอกเล่าเรื่องราว



“ก็คิดว่าถ้าอย่างนั้นเนื้อหาของ a day เล่มนี้ ก็เป็นเนื้อหาที่คล้ายที่นิตยสารสารคดีทำ คือเรื่องคนกับจักรยานต่างๆ แต่เราจะไม่ไปด้วยการนั่งรถไปหรือขึ้นเครื่องบินไป แต่ว่าเราไปหาคนเหล่านั้นด้วยการปั่นจักรยานไปหาพวกเขา นั่นทำให้เราทั้งหมดมีเวลาประมาณเดือนครึ่ง ในการเลือกซื้อจักรยาน หัดขี่ ซ้อม ฟิตร่างกาย เตรียมตัวเพื่อปั่นจักรยานทั่วประเทศไทยไปหาคนเหล่านั้น ก็คิดว่าลองกับตัวเองก็ดีเหมือนกัน จากคนที่ไม่เคยขี่มาก่อนเลยเนี่ย ไปลองให้ดู แล้วก็ขั้นสูงสุดของการขี่จักรยานในเมืองไทยก็คือการขี่รอบประเทศ ถ้าคิดดูว่าคนที่เพิ่งหัดขี่จักรยานสามารถขี่รอบประเทศได้ คือเตรียมตัวเดือนครึ่งแล้วสามารถขี่รอบประเทศได้ได้ คนอ่านก็ต้องขี่ได้สิ ขี่จากบ้านมาปากซอยก็ต้องขี่ได้สิ ก็เลยเกิดเป็นความคิดเรื่องจักรยาน เลยสนใจจักรยานนับตั้งแต่นั้นมา”


 -ปล. อันนี้ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เรื่องราวยังมีอีกมากมาย ติดตามกันได้ในตอนต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น